ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ฯ รองผู้อำนวยการ บพค. กล่าวแนะนำถึงความร่วมมือระหว่าง บพค. กับสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยที่ได้ดำเนินการตามกรอบบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) มาแล้ว 2 – 3 ปีว่า “การจัดสรรทุนเพื่อสนับสนุนให้นักวิจัยหลังปริญญาเอก (Post-doctoral fellowship) ผ่านโครงการ Franco-Thai Young Talent Fellowship ได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งฝั่งประเทศไทยและฝรั่งเศส รูปแบบ In-bound และ Out-bound สำหรับการทำวิจัยในต่างประเทศระยะสั้นระหว่าง 2 – 6 เดือน เพื่อเรียนรู้และเก็บเกี่ยวเอาประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญสองประเทศ ให้สามารถบรรลุสู่เป้าหมายการสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงตามระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ได้” ทั้งนี้ ได้กล่าวเสริมถึงโครงสร้างการบริหารจัดการระบบ ววน. ตั้งแต่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นระดับนโยบายของประเทศ การจัดสรรทุนผ่านกองทุนส่งเสริม ววน. การบริหารและจัดการทุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนต่าง ๆ จำนวน 9 หน่วยหรือ Program Management Unit (PMU) และระดับปฏิบัติการโดยสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยและภาคเอกชน ก่อนจะนำส่งไปยังหน่วยผู้ใช้ประโยชน์ เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยระบบ ววน. เป็นไปตามความต้องการอย่างแท้จริง
โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปกฯ รองผู้อำนวยการ บพค. กล่าวบรรยายว่า “แผนงานของวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย “ธัชวิทย์” หรือ Thailand Academy of Sciences (TAS) เป็นแผนงานที่ได้ดำเนินการมาแล้ว 1 ปีเศษ ซึ่ง บพค. มุ่งสร้างแพลตฟอร์มนี้เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 Frontline Think Tank มุ่งเน้นการรวมเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ของประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำมาร่วมกันแก้ไขปัญหาที่สำคัญระดับประเทศ รวมถึงการกำหนดนโยบายที่จะเร่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสหวิทยาการที่ก้าวหน้าของภูมิภาค และสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล มิติที่ 2 Frontier Science Alliances มุ่งเน้นการรวมกลุ่มนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาร่วมกันสร้างผลงานวิจัยขั้นแนวหน้า ส่งมอบเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ส่งกระทบสูงต่อแวดวงวิชาการ รวมถึง End-user ที่ต้องการนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง มิติที่ 3 Future Graduate Platform การผลิตและพัฒนากำลังคนนักวิจัยสมรรถนะสูงที่เน้นการทำวิจัยในสถาบันวิจัยหรือหน่วยงานเอกชนที่มีศักยภาพสูง พร้อมด้วยเครื่องมือวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ประเทศได้ลงทุนไปจำนวนมาก ร่วมกับมหาวิทยาลัยในการประสาทปริญญาบัตรและประกาศนียบัตร ซึ่งดำเนินการผ่านหลักสูตรที่ได้รับรองจากคณะกรรมการ Higher Education Sandbox พร้อมทั้งได้รับการบรรจุเข้าทำงานหลังสำเร็จการศึกษาและวิจัย (100% Job guarantee) โดยอีก 1 ฟันเฟืองที่สำคัญในการมาสานความร่วมมือครั้งนี้คือ เครือข่ายความร่วมมือจากสถาบันชั้นนำของโลกที่เป็น International strategic alliances อย่างฝรั่งเศสที่มีความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและน้ำหอมของโลก ซึ่งจะเป็นพาร์ทเนอร์ที่สำคัญในการต่อยอดความร่วมมือที่เข้มแข็งนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งนักวิจัยไปฝังตัวเรียนรู้การวิจัย การทำ Double degree หรือ Joint degree”
Dr. Ludovic กล่าวแนะนำถึงการทำงานของสถานทูตฝรั่งเศสที่ได้ทำงานร่วมกันกับกระทรวง อว. ของไทย โดยเฉพาะประเด็นการสนับสนุนนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่ได้ทำร่วมกับ บพค. มาแล้ว 2 ปีกว่า ตลอดจนการส่งเสริมให้นักศึกษาที่มีศักยภาพสูงได้ไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศสผ่านโปรแกรม Franco-Thai Excellence Scholarship อีกด้วย ซึ่งคาดว่ามีจำนวน 33 คนที่ได้ผ่านเข้ารอบการคัดเลือกครั้งสุดท้าย และประสงค์อยากให้มีหน่วยงานร่วมดำเนินการผลักดันความร่วมมือด้านอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ระหว่างไทย-ฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่อง
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พูลศักดิ์ฯ กล่าวเสริมอีกว่า “ที่ผ่านมา บพค. โดยกระทรวง อว. ได้สร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในต่างประเทศที่หลากหลาย ทั้งภูมิภาคอาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลี และฝรั่งเศสที่เน้นการทำวิจัยในศาสตร์ของน้ำหอมและเครื่องสำอางนั้น อันเป็นศูนย์กลางความเชี่ยวชาญของโลกที่หาที่เปรียบเทียบได้ยาก นอกจากนี้ ความเข้มแข็งในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) อย่างไต้หวันได้ก้าวหน้าจนเป็น Hub ของการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลกไปแล้ว ซึ่งประเทศไทยก็คาดหวังว่าจะเป็น Hub ในด้านอื่น ๆ และผลิตผู้เชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตรงตามความต้องการของประเทศเป็นสำคัญ”
สุดท้ายนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.รินาฯ และอาจารย์จตุรภรณ์ฯ ได้กล่าวนำเสนอแผนงานการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศสอย่าง University Bourgogne Franche-Comté (UBFC) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านน้ำหอมและเครื่องสำอาง มุ่งผลักดันการสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงให้มีทักษะการวิจัย เพื่อกลับมายกระดับคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ตลอดจนการต่อยอดในด้าน Creative industry ที่จะสร้างมูลค่าให้ Soft power ของไทยให้สูงขึ้นอีกด้วย โดยมีหน่วยงานคู่ความร่วมมืออย่าง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่มีโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับสายการผลิตที่ครบครัน และบุคลากรเชี่ยวชาญจำนวนมากและมีความเข้มแข็งกับ UBFC มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ในการนี้ ยังได้กล่าวถึงหลักสูตร Bioscience and Bioinnovation for Sustainability ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้ร่วมพัฒนาขึ้นกับ วว. ในการที่จะผลักดันให้เกิดความร่วมมือแบบบูรณาการให้ได้เป็น Double degree โดยมีกรอบระยะเวลาการเรียนที่แน่นอนได้ เพื่อให้เกิดการสร้างคนที่มีคุณภาพและทันต่อตามความต้องการของประเทศ