วันนี้ (วันที่ 19 กันยายน 2567) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ดร.ชิดชนก อนุตระกูลชัย และ ดร.ศุภฤกษ์ บุพศิริ นักวิเคราะห์อาวุโส ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนาพลเมืองการเกษตรอัจฉริยะเสมือนจริง/เชิงพื้นที่ ผ่านเทคโนโลยี HandySense ภายใต้โครงการหลัก การพัฒนาเยาวชนสมรรถนะสูงด้าน Coding เพื่อประยุกต์ใช้ในแบบเสมือนจริง (ผ่าน Application) หรือในเชิงพื้นที่ สำหรับการเกษตรอัจฉริยะ และมีความรู้ความสามารถด้าน Business Model เพื่อการบริการด้านเกษตรอัจฉริยะ โดยมีนายนพดร ปัญญาจงถาวร รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาบุคลการแห่งอนาคต สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหัวหน้าโครงการ โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) แผนงานพัฒนาเยาวชนให้เป็นผู้มีความสามารถพิเศษและ/หรือสมรรถนะสูงด้าน Coding โดยใช้วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นฐานในการสร้างบุคลากรด้าน ววน. ในอนาคต ประจำปีงบประมาณ 2566 มีวัตถุประสงค์หลักในการสร้างนักพัฒนาระบบบริหารแปลงเกษตรอัจฉริยะ (Smart agricultural management developer) ด้วยนวัตกรรมแบบเปิด HandySense ด้วยการเรียนรู้พื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (Internet of Things, IoTs) เพื่อสร้างเสริมอาชีพการเป็นช่างสมาร์ทฟาร์มหรือผู้ออกแบบแปลงเกษตรอัจฉริยะแก่เยาวชนและบุคลากรในภาคเกษตรกรรม ซึ่งโครงการได้จัดกิจกรรมอบรมการออกแบบระบบบริหารแปลงเกษตรด้วยนวัตกรรมแบบเปิด HandySense ขั้นสูง (Advanced level) ระยะเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 16 – 20 กันยายน พ.ศ. 2567 ณ ห้องประชุมมงกุฎพลอย ชั้น 16 โรงแรมโฆษะ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งวันนี้ได้ดำเนินการมาจนถึงวันที่สี่ของการอบรมแล้ว
โอกาสนี้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รับการคัดเลือกจากหน่วยงานต่าง ๆ จำนวน 10 หน่วยงาน ประกอบด้วย วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีเชียงใหม่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 7 เชียงใหม่ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 8 สุราษฎร์ธานี ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 5 อุบลราชธานี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เรือนจำชั่วคราวหนองกระทิงจังหวัดลำปาง เรือนจำชั่วคราวบ้านห้วยเตย จังหวัดหนองบัวลำภู และ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดขอนแก่น รวม 69 ท่าน ผ่านการขยายผลจากโครงการปี 2566 จำนวน 16 แห่งในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออก ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานทั้ง 4 ภูมิภาค และเป็นประโยชน์ต่อการขยายผลไปยังเกษตรกรให้สามารถประยุกต์ใช้งานแผงวงจรควบคุมระบบน้ำ/ความชื้น ไฟฟ้าส่องสว่าง ปริมาณอาหารพืชและอื่น ๆ เพื่อให้ประสิทธิภาพการบริหารจัดการแปลงเกษตรดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ส่งเสริมตามนโยบายศูนย์กลางการเกษตรและอาหารแห่งภูมิภาค (Agriculture and Food Hub) ตามวิสัยทัศน์จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง (IGNITE THAILAND) ของรัฐบาล ซึ่งมุ่งเป้าหมายยกระดับมูลค่าอุตสาหกรรมการเกษตรต้องเพิ่มขึ้น 3 เท่า ดังคำที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ในกระเป๋าต้องมีเงิน” นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีได้กล่าวไว้
#บพค #PMUB #กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม #กระทรวงอว #MHESI #กองทุนส่งเสริมววน #HandySense #Smartfarm #NSTDA #สวทช