ติดต่อเรา

หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)
319 อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 14 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทร. 02-109-5432 ต่อ 841

First Name
Last Name
Email
Message
ขอบคุณสำหรับข้อมูล
There has been some error while submitting the form. Please verify all form fields again.

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) จัดกิจกรรม Thailand Academy of Sciences (TAS) Annual Networking Activity ภายใต้แนวคิด “การเชื่อมโยงกำลังคนสมรรถนะสูงข้ามพรมแดนร่วมกับ University of Science and Technology (UST) ประเทศเกาหลีใต้ – Connecting Brainpower Across Border with UST South Korea” นำโดย ผศ.ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. ผศ.ดร.วรจิตต์ เศรษฐพรรค์ ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ด้าน Global Partnership ศ.ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ หัวหน้าคณะผู้ประสานงานอำนวยการโครงการธัชวิทย์ประจำปี 2567 ผศ.ดร.จุฑารพ เพชระบูรณิน หัวหน้าโครงการกลุ่มวิจัยด้าน Systems Bioscience เป็นผู้ดำเนินรายการ พร้อมด้วยพนักงาน บพค. นักวิจัยผู้ได้รับทุนและนักศึกษา ให้การต้อนรับคณะอาจารย์ นักวิจัยและเจ้าหน้าที่จาก UST สาธารณรัฐเกาหลี นำโดย Dr. Won Suk SHIN – Korea Research Institute of Chemical Technology (KRICT) Dr. June Seok CHOI – Korea Institute of Civil Engineering and Building Technology (KICT) Dr. Jae Hoon JEONG – Korea Institute of Radiological and Medical Sciences (KIRAMS) Dr. Moo Seung LEE – Korea Research Institute of Bioscience and Biotechnology (KRIBB) Dr. Young Sil KWAK – Korea Astronomy and Space Science Institute (KASI) Mr. Hee Gwon KIM – Head of Admission Division (UST) และ Mr. Ki Hwan YANG – Senior Officer, Student Support Division (UST) เข้าร่วมกิจกรรม Workshop วางแผนปฏิบัติการ (Action plan) สำหรับการดำเนินการสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยขั้นแนวหน้าในประเด็นที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ผ่านวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชวิทย์) หรือ Thailand Academy of Sciences ซึ่งมีเครื่องมือที่สำคัญอย่าง International Strategic Alliance ระดับชั้นนำของโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง UST เข้ามามีบทบาทสำคัญในการร่วมผลิตบุคลากรวิจัยสมรรถนะสูงในรูปแบบ Non-conventional future graduate ที่จะสร้างทักษะใหม่ ๆ ให้แก่นักศึกษา/นักวิจัยรุ่นใหม่ ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ฉับพลัน โดยกิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันวางแผนกิจกรรมการสร้างความเข้มแข็งด้านวิจัยและพัฒนาระหว่าง UST และนักวิจัยผู้รับทุน TAS ของ บพค. มุ่งเน้นประเด็นการวิจัยขั้นแนวหน้าที่ส่งผลกระทบสำคัญแก่ประเทศในองค์รวม เพื่อดำเนินการสร้างเป้าหมาย action plan ในการส่งผู้เรียนไปฝังตัววิจัยระยะสั้นในต่างประเทศ (เน้นเกาหลีใต้) ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่าง 2 ประเทศในประเด็นวิจัยที่เกี่ยวข้อง อาทิ Synthetic biology, Railway system, Astronomy and Space, AI และอื่น ๆ ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม ชั้น 21 โรงแรม Crowne Plaza Bangkok Lumpini Park โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 110 คน

โอกาสนี้ ผศ.ดร.วรจิตต์ฯ กล่าวว่า โครงการธัชวิทย์หรือ Thailand Academy of Sciences (TAS) เป็นโปรแกรมที่ได้ดำเนินการมาแล้ว 1 ปีเศษ และได้มีการลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ UST ประเทศเกาหลีใต้ในการให้การสนับสนุนด้านบุคลากรและเครื่องมือวิจัยในสถาบันวิจัยชั้นนำของเกาหลีใต้ การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการสร้างเครือข่ายพันธมิตรนานาชาติด้านการสร้างและพัฒนากำลังคนให้มีทักษะตามที่หน่วยงานและประเทศต้องการ นอกจากนี้ กิจกรรมนี้ยังเป็นอีก 1 กิจกรรมที่ดีของธัชวิทย์ที่จะสร้างให้เกิดแผนปฏิบัติการหรือ Action plan ที่จริงจังต่อการส่งผู้เรียนไปฝังตัวทำวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ เพื่อให้สอดคล้องตามหลักเกณฑ์ของ Future Graduate Platform

ด้าน ผศ.ดร.ปริปกฯ กล่าวบรรยายเสริมอีกว่า ในปีงบประมาณ 2567 ธัชวิทย์ได้สนับสนุนทุนในส่วนที่เป็น Future Graduate Platform ไปทั้งหมดแล้ว แบ่งออกได้เป็น 5 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1) Frontier BCG 2) Climate change technology (Energy and Environment) 3) Future Technology (High Energy Physics and Plasma, Synchrotron light, Astronomy) 4) Frontier Technology for Infrastructure (Rail system) 5) AI in Learning Science (Science communication) ซึ่งเน้นย้ำถึงการสร้างคนที่มีสมรรถนะและทักษะสูงสอดรับตามความต้องการของหน่วยงานภาคผู้ใช้/ประเทศเป็นสำคัญ ทั้งนี้ กิจกรรมในวันนี้จะเป็นกลไกที่สำคัญอันจะเชื่อมต่อให้เกิดความร่วมมือครบทั้ง 4 ส่วน ได้แก่ สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาคเอกชน/อุตสาหกรรม และสถาบันวิจัยชั้นนำของโลก โดย UST คือส่วนที่เป็น International Strategic Alliance ที่สำคัญของโครงการนี้ ดังที่ ผศ.ดร.วรจิตต์ฯ ได้กล่าวไปแล้วนั้น

ภายในงานฯ ได้จัดแบ่งกลุ่มการทำงาน (Working groups) เป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่ 1) Synthetic biology and Biomedical sciences 2) Rail system and Future mobility 3) Other research fields (AI, Astronomy) เพื่อให้สอดคล้องกับอาจารย์ที่มาจากสถาบันต่าง ๆ ของ UST ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองการวิจัย การกำหนดทิศทาง หัวข้อวิจัยที่สำคัญ และกำหนดระยะเวลาการแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ขั้นสูงในรูปแบบของการฝังตัวทำวิจัยของนักศึกษาผู้รับทุนและการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ โดย บพค. มีความคาดหวังว่า กิจกรรมในวันนี้จะเป็นก้าวสำคัญที่จะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง Institute-to-Institute ของประเทศไทยและเกาหลีใต้ได้
ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน คณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยต่าง ๆ ภายใต้การกำกับดูแลของ UST (KRIBB, KICT, KRICT, KIRAMS, KASI) ได้กล่าวบรรยายพิเศษถึง การดำเนินงานและผลงานของสถาบันวิจัยทั้ง 5 แห่ง รวมถึงแนวทางการสนับสนุนทุนของ UST ที่ต้องการให้นักวิจัยชาวไทยได้ไปเรียนรู้และใช้ชีวิตที่ประเทศเกาหลีใต้ ในระดับบัณฑิตศึกษาและหลังปริญญา โดยมีทุนเต็มจำนวน (Full-scholarship) และทุนการสนับสนุนบางส่วนให้ หากมีข้อมูลซักถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ Admission Division of UST