บพค – ธัชวิทย์ ร่วมกับ มจธ. จัดการประชุมเปิดโครงการวิจัยสร้าง Super Microalgae โดยใช้ชีววิทยาสังเคราะห์ ผนึกพันธมิตรนักวิจัยจาก KU-NU-KKU-MU-Biotec (NSTDA) ร่วมสร้าง Frontier Science Alliance ต้นแบบของไทย

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์ 2568) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย นายจักรพันธ์ สาครชัยเจริญ ดร.ศุภฤกษ์ บุพศิริ และนางสาวอักษร ฉายสุวรรณ นักวิเคราะห์และเจ้าหน้าที่อาวุโส บพค. ร่วมประชุมเปิดการดำเนินงานโครงการวิจัย (Kick-off meeting) โครงการการสร้างสาหร่ายสายพันธุ์ใหม่ด้วยนวัตกรรมชีววิทยาสังเคราะห์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของประเทศไทย โดยมีศาสตราจารย์ ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ ผู้อำนวยการบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) เป็นหัวหน้าโครงการให้การต้อนรับ และได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นประธานการประชุมฯ และศาสตราจารย์ ดร.มรกต ตันติเจริญ ที่ปรึกษาอาวุโสอธิการบดีฯ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิให้คำแนะนำแก่โครงการดังกล่าว พร้อมด้วยคณะนักวิจัยและอาจารย์จากหน่วยงานในเครือข่ายความร่วมมือกว่า 25 ท่านร่วมประชุม ณ ห้องประชุมประภา ประจักษ์ศุภนิติ ชั้น 9 อาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

โดยการประชุมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อชี้แจงถึงแนวทางการบริหารเครือข่ายการทำงานวิจัยขั้นแนวหน้าในขอบเขตงานของ Frontier Science Alliance ภายใต้แผนงานวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ธัชวิทย์) หรือ Thailand Academy of Sciences (TAS) ที่มุ่งระดมผู้เชี่ยวชาญของประเทศไทยในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับโจทย์วิจัยระดับสำคัญของประเทศ (National Agenda) มาร่วมกันสร้างผลงานวิจัยเชิงประจักษ์และนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดเชิงพาณิชย์ ในภาคบริการและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการระดมคณะนักวิจัยที่เข้าร่วมในโครงการได้มีโอกาสพบปะกันในรูปแบบ Onsite เพื่อวางแผนการดำเนินกิจกรรมตลอดระยะเวลาโครงการ 3 ปี ซึ่งในปีงบประมาณ 2568 บพค. ได้สนับสนุนโครงการวิจัยนี้ผ่านแพลตฟอร์มธัชวิทย์ มุ่งเป้าประเด็นการใช้ชีววิทยาสังเคราะห์ (Synthetic biology) เป็นเครื่องมือ/เทคโนโลยีสำคัญในการขับเคลื่อนงานวิจัยขั้นแนวหน้าที่เน้นการดักจับคาร์บอนและการใช้ประโยชน์ (Carbon capture utilization, CCU) เพื่อตอบสนองต่อนโยบายการส่งเสริมงานวิจัยด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนและเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 และ 2065

ในการนี้ ทางโครงการได้รวบรวมเอาผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงสาหร่าย การตัดแต่งจีโนม การตรวจเอกลักษณ์และตรวจหาลำดับยีน การนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำที่มาจากหลากหลายสาขา หลายสถาบันกว่า 6 หน่วยงาน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เข้าร่วมเครือข่ายการวิจัยการพัฒนาสาหร่ายพันธุ์ใหม่ที่ทนต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณสูง เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลกในอนาคตได้ ซึ่งนับเป็นเทคโนโลยีขั้นแนวหน้าด้านชีวภาพที่จะสามารถนำมาช่วยลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากโครงการวิจัยให้ภาคธุรกิจ การบริการและอุตสาหกรรมอีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีความมุ่งหวังที่จะปั้นเป็นฮับด้านการเรียนรู้และวิจัยการเพาะเลี้ยงสาหร่ายที่รักษ์สิ่งแวดล้อมและต่อยอดเป็น National Demonstration Site ในอนาคต

Scroll to Top