เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2568 คณะนักวิจัยและเจ้าหน้าที่จาก โครงการวิจัย “โครงการการสร้างสาหร่ายพันธุ์ใหม่ด้วยนวัตกรรมชีววิทยาสังเคราะห์
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของประเทศไทย
นำโดย ศ. ดร.นวดล เหล่าศิริพจน์ เข้าเยี่ยมชมบริษัท ฟาร์มาแฟค แพลน เทคโนโลยี จำกัด ที่จังหวัดปทุมธานี เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และหารือความร่วมมือในการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม

คณะเยี่ยมชม ประกอบด้วยนักวิจัยจากหลายสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัย ที่ร่วมดำเนินโครงการการสร้างสาหร่ายพันธุ์ใหม่ด้วยนวัตกรรมชีววิทยาสังเคราะห์
เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดักจับคาร์บอนไดออกไซด์จากอุตสาหกรรมเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ของประเทศไทย โดยโครงการนี้มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนด้วยสาหร่ายขนาดเล็กเพื่อการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ที่ประกอบด้วยงานวิจัย 3 ส่วน ได้แก่ การปรับปรุงสายพันธุ์สาหร่ายด้วยชีววิทยาสังเคราะห์ การพัฒนาระบบเพาะเลี้ยงอย่างยั่งยืนที่ผสานเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์และนาโนบับเบิล CO₂ และการพัฒนาเทคโนโลยีไบโอรีไฟเนอรี เพื่อใช้ประโยชน์จากสาหร่ายในรูปแบบผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงและเชื้อเพลิงชีวภาพ




ในระหว่างการเยี่ยมชม ทีมงานฟาร์มาแฟคได้นำเสนอภาพรวมและโครงการสำคัญของบริษัท ดังนี้
- บริษัท ฟาร์มาแฟค แพลน เทคโนโลยี จำกัด เป็นบริษัทในเครือฟาร์มาแฟคซึ่งให้บริการทางวิศวกรรมแบบครบวงจรสำหรับอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ โดยมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบและบริหารโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุ (Biopharmaceutical) ที่ได้มาตรฐาน cGXP
- Pharma di Aqua เป็นระบบการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำหมุนเวียน (Recirculating Aquaculture System: RAS) ที่พัฒนาโดยฟาร์มาแฟค ที่ผสานระบบนาโนบับเบิล และแพลตฟอร์มบริหารจัดการฟาร์มที่รวมเซนเซอร์ ระบบ Internet of Things (IoT) และแอปพลิเคชันบนมือถือ เพื่อควบคุมการดำเนินงานแบบเรียลไทม์
- Global Tech-Talent Nexus (GTN) เป็นโครงการพัฒนาบุคลากรของฟาร์มาแฟค ที่ให้บริการครบวงจร ตั้งแต่การเพิ่มทักษะให้กับบุคลากร ไปจนถึงการจัดหางานในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง
หลังจากการนำเสนอและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น คณะฯ ได้เยี่ยมชม Pharma di Aqua เพื่อศึกษาดูงานระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอัจฉริยะและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง






การเยี่ยมชมครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของความร่วมมือระหว่างภาควิชาการและอุตสาหกรรม ในการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน