เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) นำโดย ดร.ภาวดี อังค์วัฒนะ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยนักวิเคราะห์อาวุโส เดินทางลงพื้นที่ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และสำนักงบประมาณ เพื่อตรวจเยี่ยมและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานวิจัยและนวัตกรรม ที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ณ จังหวัดขอนแก่น เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และเป้าหมายสำคัญในระดับพื้นที่ รวมทั้งเสริมสร้างการพัฒนาและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ตลอดจนส่งเสริมการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
โดยช่วงเช้า ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ สกสว. พร้อมคณะผู้ตรวจเยี่ยม ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงรวบรวมผลผลิตกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักโนนเขวา ตำบลดอนหัน อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อรับฟังการนำเสนอเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำและการเกษตรในพื้นที่ รวมทั้งระบบการรับซื้อและขายของกลุ่มเกษตรกรปลูกพืชผักบ้านโนนเขวา จากนั้นลงพื้นที่สำรวจ ฝายห้วยซันอนุสรณ์ และแปลงเกษตรกรที่ใช้น้ำจากฝายห้วยซันและหนองน้ำแก้มลิงในบริเวณโดยรอบ ซึ่งเป็นตัวอย่างการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน
ต่อมาในช่วงบ่าย คณะผู้ตรวจเยี่ยม ได้เข้าเยี่ยมชม “โครงการการวิจัยและพัฒนายกระดับการเขียนบทภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดโลกและกำลังคนที่เชี่ยวชาญระดับสากล โดยใช้รากเหง้าและอัตลักษณ์วัฒนธรรมล้านช้าง” ณ ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมและหอศิลป์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจาก บพค. ภายใต้กองทุนส่งเสริม ววน. โดย รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ หัวหน้าโครงการ พร้อมด้วยทีมนักวิจัย ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรีชา สาคร และคุณปรัชญา ปิ่นแก้ว ได้กล่าวถึงเป้าหมายของโครงการวิจัยนี้ว่า
“หนึ่งในอุปสรรคสำคัญคือบุคลากรในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ โดยเฉพาะนักเขียนบท ซึ่งยังมีจำนวนน้อยและขาดความเชี่ยวชาญที่สามารถตอบโจทย์ตลาดโลกได้ นอกจากนี้ เนื้อหาภาพยนตร์ไทยในปัจจุบัน แม้จะพยายามพัฒนาให้ร่วมสมัย แต่ยังขาดความแปลกใหม่และความดึงดูดใจที่ทำให้สามารถแข่งขันกับภาพยนตร์จากนานาชาติได้ ด้วยเหตุนี้ โครงการฯ นี้จึงถูกริเริ่มขึ้น โดยมุ่งเน้นการพัฒนานักเขียนบทภาพยนตร์ไทยให้มีศักยภาพในระดับสากล ผ่านกระบวนการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและเวิร์กช็อปกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก พร้อมทั้งใช้วัฒนธรรมล้านช้างที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมาเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างสรรค์เนื้อหา ผลลัพธ์ที่ได้คือบุคลากรที่มีทักษะการเขียนบทภาพยนตร์ ผลงานที่สะท้อนวัฒนธรรมล้านช้าง และเครือข่ายความร่วมมือที่สามารถผลักดันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยสู่ตลาดโลก”
นอกจากนี้ทางโครงการฯ ได้นำชม “พิพิธภัณฑ์พุทธศิลป์” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมที่รวบรวม “พระไม้” หรือ รูปแกะสลักพระขนาดเล็กแบบพื้นบ้านของภาคอีสาน แกะอย่างเรียบง่ายโดยช่างชาวบ้าน สะท้อนถึงวัฒนธรรม ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นงานศิลปะที่สร้างขึ้นด้วยศรัทธาเพื่อเป็นพุทธบูชา รวมถึงความเชื่อเรื่อง “พระไม้” ยังปรากฎอยู่ในบทภาพยนตร์ของทางโครงการที่กำลังเปิดตัวถ่ายทำอยู่ในขณะนี้อีกด้วย
ก่อนจบกิจกรรม ทางคณะผู้เข้าร่วมยังได้เข้าชมพื้นที่ซึ่งได้วางแผนจัดตั้งเป็นศูนย์ภาพยนตร์อีสาน โดยมีวัตถุประสงค์ให้พื้นที่แห่งนี้เป็นศูนย์กลางสำคัญที่จะรวบรวม บันทึก และถ่ายทอดเรื่องราวของคนอีสานผ่านภาพยนตร์ พร้อมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และแสดงผลงานทางศิลปะ เพื่อส่งเสริมให้ภูมิภาคนี้มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นเมืองหนังระดับโลก
บพค. ในฐานะหน่วยงานจัดสรรทุนวิจัยเพื่อพัฒนากำลังคนและส่งเสริมการวิจัย รู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนบทภาพยนตร์คุณภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนการเผยแพร่วัฒนธรรมล้านช้างสู่เวทีสากล ซึ่งช่วยเสริมสร้าง Soft Power ที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศและยกระดับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในเวทีโลกอย่างยั่งยืน