วันนี้ (13 กันยายน 2567) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ นักยุทธศาสตร์ระดับสูง รักษาการแทนรองผู้อำนวยการ สอวช. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปก พิศสุวรรณ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ กุลชาติ รองผู้อำนวยการ บพค. พร้อมด้วยรองศาสตราจารย์ ดร.รินา ภัทรมานนท์ ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ บพค. ด้าน Frontier BCG อาจารย์จตุรภรณ์ โชคภูเขียว ประธานคณะประสานงานคลัสเตอร์ บพค. ด้าน SHA Coding และ AI ดร.ชิดชนก อนุตระกูลชัย และ ดร.ศุภฤกษ์ บุพศิริ นักวิเคราะห์อาวุโส บพค. เข้าพบปะและหารือความร่วมมือกับ Dr. Ludovic Andres ผู้ช่วยเลขานุการทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ด้านความร่วมมือวิทยาศาสตร์และการอุดมศึกษา (Attaché for Scientific and Higher Education Cooperation) ณ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย (Ambassade de France en Thaïlande) พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ประจำสถานทูต ได้แก่ Mr.Johan Broc Ms.Wanpen Sirapat และ Ms.Jutaporn Kanjanakuha ร่วมให้การต้อนรับด้วย
ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศิรินันท์ฯ รองผู้อำนวยการ บพค. กล่าวแนะนำถึงความร่วมมือระหว่าง บพค. กับสถานทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทยที่ได้ดำเนินการตามกรอบบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) มาแล้ว 2 – 3 ปีว่า “การจัดสรรทุนเพื่อสนับสนุนให้นักวิจัยหลังปริญญาเอก (Post-doctoral fellowship) ผ่านโครงการ Franco-Thai Young Talent Fellowship ได้รับการตอบรับที่ดีจากทั้งฝั่งประเทศไทยและฝรั่งเศส รูปแบบ In-bound และ Out-bound สำหรับการทำวิจัยในต่างประเทศระยะสั้นระหว่าง 2 – 6 เดือน เพื่อเรียนรู้และเก็บเกี่ยวเอาประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญสองประเทศ ให้สามารถบรรลุสู่เป้าหมายการสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงตามระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ได้” ทั้งนี้ ได้กล่าวเสริมถึงโครงสร้างการบริหารจัดการระบบ ววน. ตั้งแต่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นระดับนโยบายของประเทศ การจัดสรรทุนผ่านกองทุนส่งเสริม ววน. การบริหารและจัดการทุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนต่าง ๆ จำนวน 9 หน่วยหรือ Program Management Unit (PMU) และระดับปฏิบัติการโดยสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยและภาคเอกชน ก่อนจะนำส่งไปยังหน่วยผู้ใช้ประโยชน์ เพื่อให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยระบบ ววน. เป็นไปตามความต้องการอย่างแท้จริง
โอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริปกฯ รองผู้อำนวยการ บพค. กล่าวบรรยายว่า “แผนงานของวิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย “ธัชวิทย์” หรือ Thailand Academy of Sciences (TAS) เป็นแผนงานที่ได้ดำเนินการมาแล้ว 1 ปีเศษ ซึ่ง บพค. มุ่งสร้างแพลตฟอร์มนี้เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน 3 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 Frontline Think Tank มุ่งเน้นการรวมเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ของประเทศตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำมาร่วมกันแก้ไขปัญหาที่สำคัญระดับประเทศ รวมถึงการกำหนดนโยบายที่จะเร่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านสหวิทยาการที่ก้าวหน้าของภูมิภาค และสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายของรัฐบาล มิติที่ 2 Frontier Science Alliances มุ่งเน้นการรวมกลุ่มนักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาร่วมกันสร้างผลงานวิจัยขั้นแนวหน้า ส่งมอบเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ส่งกระทบสูงต่อแวดวงวิชาการ รวมถึง End-user ที่ต้องการนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง มิติที่ 3 Future Graduate Platform การผลิตและพัฒนากำลังคนนักวิจัยสมรรถนะสูงที่เน้นการทำวิจัยในสถาบันวิจัยหรือหน่วยงานเอกชนที่มีศักยภาพสูง พร้อมด้วยเครื่องมือวิจัยและโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ที่ประเทศได้ลงทุนไปจำนวนมาก ร่วมกับมหาวิทยาลัยในการประสาทปริญญาบัตรและประกาศนียบัตร ซึ่งดำเนินการผ่านหลักสูตรที่ได้รับรองจากคณะกรรมการ Higher Education Sandbox พร้อมทั้งได้รับการบรรจุเข้าทำงานหลังสำเร็จการศึกษาและวิจัย (100% Job guarantee) โดยอีก 1 ฟันเฟืองที่สำคัญในการมาสานความร่วมมือครั้งนี้คือ เครือข่ายความร่วมมือจากสถาบันชั้นนำของโลกที่เป็น International strategic alliances อย่างฝรั่งเศสที่มีความแข็งแกร่งด้านอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและน้ำหอมของโลก ซึ่งจะเป็นพาร์ทเนอร์ที่สำคัญในการต่อยอดความร่วมมือที่เข้มแข็งนี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งนักวิจัยไปฝังตัวเรียนรู้การวิจัย การทำ Double degree หรือ Joint degree”

Dr. Ludovic กล่าวแนะนำถึงการทำงานของสถานทูตฝรั่งเศสที่ได้ทำงานร่วมกันกับกระทรวง อว. ของไทย โดยเฉพาะประเด็นการสนับสนุนนักวิจัยหลังปริญญาเอกที่ได้ทำร่วมกับ บพค. มาแล้ว 2 ปีกว่า ตลอดจนการส่งเสริมให้นักศึกษาที่มีศักยภาพสูงได้ไปเรียนต่อในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกที่ประเทศฝรั่งเศสผ่านโปรแกรม Franco-Thai Excellence Scholarship อีกด้วย ซึ่งคาดว่ามีจำนวน 33 คนที่ได้ผ่านเข้ารอบการคัดเลือกครั้งสุดท้าย และประสงค์อยากให้มีหน่วยงานร่วมดำเนินการผลักดันความร่วมมือด้านอุดมศึกษาและวิทยาศาสตร์ระหว่างไทย-ฝรั่งเศสอย่างต่อเนื่อง
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พูลศักดิ์ฯ กล่าวเสริมอีกว่า “ที่ผ่านมา บพค. โดยกระทรวง อว. ได้สร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายในต่างประเทศที่หลากหลาย ทั้งภูมิภาคอาเซียน ญี่ปุ่น เกาหลี และฝรั่งเศสที่เน้นการทำวิจัยในศาสตร์ของน้ำหอมและเครื่องสำอางนั้น อันเป็นศูนย์กลางความเชี่ยวชาญของโลกที่หาที่เปรียบเทียบได้ยาก นอกจากนี้ ความเข้มแข็งในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) อย่างไต้หวันได้ก้าวหน้าจนเป็น Hub ของการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของโลกไปแล้ว ซึ่งประเทศไทยก็คาดหวังว่าจะเป็น Hub ในด้านอื่น ๆ และผลิตผู้เชี่ยวชาญในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตรงตามความต้องการของประเทศเป็นสำคัญ”
สุดท้ายนี้ รองศาสตราจารย์ ดร.รินาฯ และอาจารย์จตุรภรณ์ฯ ได้กล่าวนำเสนอแผนงานการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยขอนแก่นและมหาวิทยาลัยในฝรั่งเศสอย่าง University Bourgogne Franche-Comté (UBFC) ที่มีความเชี่ยวชาญด้านน้ำหอมและเครื่องสำอาง มุ่งผลักดันการสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงให้มีทักษะการวิจัย เพื่อกลับมายกระดับคุณค่าและมูลค่าของผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทย ตลอดจนการต่อยอดในด้าน Creative industry ที่จะสร้างมูลค่าให้ Soft power ของไทยให้สูงขึ้นอีกด้วย โดยมีหน่วยงานคู่ความร่วมมืออย่าง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่มีโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับสายการผลิตที่ครบครัน และบุคลากรเชี่ยวชาญจำนวนมากและมีความเข้มแข็งกับ UBFC มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว ในการนี้ ยังได้กล่าวถึงหลักสูตร Bioscience and Bioinnovation for Sustainability ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้ร่วมพัฒนาขึ้นกับ วว. ในการที่จะผลักดันให้เกิดความร่วมมือแบบบูรณาการให้ได้เป็น Double degree โดยมีกรอบระยะเวลาการเรียนที่แน่นอนได้ เพื่อให้เกิดการสร้างคนที่มีคุณภาพและทันต่อตามความต้องการของประเทศ

EN